ปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรไทย ในบรรดาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคในกลุ่มนี้ พฤติกรรมการบริโภคอาหารจัดเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง การที่นักวิชาการให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขได้ (ถึงแม้จะแก้ยาก) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อโรค ไม่เหมือนกับปัจจัยบางอย่าง เช่น พันธุกรรม (ที่คงต้องรอภพหน้า) เป็นต้น ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างขั้นตอนการปฏิบัติตัวที่ดูจะไม่ยากนักสำหรับการปกป้องหัวใจให้ห่างไกลโรคมาฝากกัน
ขั้นตอนสู่หัวใจแข็งแรง
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า เรื่องราวที่จะเขียนต่อไปนี้ผู้เขียนไม่ได้คิดขึ้นมาเอง แต่เป็นข้อแนะนำของเมโยคลินิก (Mayo Clinic) ซึ่งเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนนำหลักการมาปรับให้เข้ากับสถานการณ์และรายการอาหารแบบไทย ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อ่าน รวมทั้งเพิ่มเติมข้อมูลอื่น อีกบ้าง ลองมาพบกับขั้นตอนทั้ง 8 กันเลย
จำกัดการกินไขมันที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และคอเลสเตอรอล
ขั้นตอนแรกจัดว่า เป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะการได้รับไขมันอิ่มตัว ไขมันชนิดทรานส์ และคอเลสเตอรอลในปริมาณมาก เป็นต้นเหตุของการเกิดหลอดเลือดอุดตัน นำไปสู่โรคหัวใจ นักโภชนาการจึงแนะนำให้จำกัดการได้รับไขมันเหล่านี้ ด้วยวิธีการปฏิบัติอย่างง่าย ๆ คือ ลดการบริโภคไขมันที่มีลักษณะกึ่งแข็ง เช่น เนย มาร์การีน และเนยขาว ไขมันทุกชนิดที่เป็นไขมันสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหมู เนย ครีม (จากนมวัว) มันหมู มันไก่ เพราะเป็นแหล่งที่สำคัญของไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอล บางอย่างอาจเป็นแหล่งของไขมันทรานส์ด้วย สังเกตได้จากฉลาก ถ้าเป็นไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน (Hydrogenated Fat) มักใช้ในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เช่น คุกกี้ แครกเกอร์ เป็นต้น
เลือกกินอาหารโปรตีนที่มีไขมันต่ำ
อาหารที่เป็นแหล่งโปรตีนที่เราบริโภคกันทั่วไป คือ เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เป็นธรรมดาที่เนื้อติดมันจะนุ่มและให้กลิ่นรสที่ดี แต่ไขมันจากสัตว์เป็นแหล่งของไขมันอิ่มตัว และคอเลสเตอรอล จึงควรเลือกกินเนื้อส่วนที่ไม่ติดมัน ต้องลดพวกขาหมู หมูสามชั้น หมูกรอบ หนังไก่ หนังเป็ด ตลอดจนไส้กรอก เบคอน เครื่องใน เลือกดื่มนมและนมเปรี้ยวหรือผลิตภัณฑ์นมปราศจากไขมัน (หรือไขมันต่ำก็ยังดี) ไข่แดงอย่ากินบ่อยเกินไปสำหรับผู้ใหญ่ เพราะคอเลสเตอรอลสูงทางเลือกอื่นที่น่าสนใจคือ ปลา เต้าหู้ และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองหรือถั่วอื่น ๆ ที่มีไขมันต่ำ
กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น
ข้อนี้คงไม่ต้องบรรยายมาก เพราะเราก็คุยกันเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว ผักผลไม้นอกจากแทบจะปราศจากไขมันแล้ว ยังให้วิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และสารที่มีประโยชน์อื่น ๆ เพียงแต่อย่าราดสลัดครีมจนชุ่มหรือกินผักผลไม้ที่ผ่านการทอด เช่น เฟรนช์ฟรายส์ กล้วยแขก มันทอด ฯลฯ มากจนเกินไป
เลือกธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี
ข้าวกล้องและขนมปังโฮลวีท เป็นตัวเลือกที่ให้คุณค่าทางโภชนาการมากกว่าข้าวที่ขัดสีจนขาว และขนมปังขาว ใยอาหารและสารอาหารอื่น ๆ ในธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีมีผลต่อการควบคุมความดันโลหิต และการลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
ลดเกลือ (โซเดียมคลอไรด์) ในอาหาร
ทุกท่านคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าการกินรสเค็ม ซึ่งเกิดจากเกลือโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกงที่มีในอาหารต่าง ๆ มากไปนั้น เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ เพราะฉะนั้นควรจะต้องเพลา ๆ ลงบ้าง หัดเติมเครื่องปรุงรสเค็มให้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส ชิมก่อนปรุง และหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด
ปรับปริมาณการกิน
ปัญหาใหญ่อันหนึ่งของหลาย ๆ ประเทศที่มีปัญหาโรคอ้วน และโรคเรื้อรังทั้งหลายคือ การกินเกินพอดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่เสิร์ฟในร้านอาหารหรือภัตตาคาร บางครั้งจะให้ปริมาณมากหรือเชิญชวนให้เพิ่มขนาด เพิ่มนั่นเพิ่มนี่เพื่อให้ (ดูเหมือนว่า) คุ้มราคา เราต้องรู้จักประมาณการ กินพออิ่ม เลือกปริมาณที่พอเหมาะ ถ้าหากเป็นอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ควรหยุดเมื่อเริ่มรู้สึกอิ่ม
วางแผนล่วงหน้าในการบริโภคอาหารแต่ละวัน
ข้อนี้อาจจะยากสักหน่อยสำหรับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีชีวิตแบบเร่งรีบ แต่อย่างน้อยขอให้กินอย่างมีสติ ในแต่ละวันกินให้ได้ครบ 5 หมู่ ข้าว แป้ง ผักผลไม้มากหน่อย เนื้อสัตว์หรืออาหารโปรตีนอื่นพอประมาณ น้ำมัน (ไขมัน) น้ำตาล เกลือกินแต่น้อย
ให้รางวัลตัวเองเป็นครั้งคราว
สุดท้ายแล้วอย่าเคร่งเครียดจนเกินไป อาหารมันก็กินไม่ได้หวานไป เค็มไปก็ไม่ดี ชีวิตนี้ช่างไม่มีรสชาติ คงไม่ต้องถึงขนาดนั้น ขอเพียงให้ในเวลาส่วนใหญ่เรากินอาหารให้ถูกหลัก กินของที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพ บางครั้งบางคราวเราสามารถให้รางวัลกับตัวเองบ้าง แต่อย่าใช้เป็นข้ออ้างในการละเลยการมีพฤติกรรมการบริโภคที่ดี
ครบ 8 ขั้นตอนที่ไมน่าจะยากจนเกินไป ถ้าสามารถปฏิบัติจนเป็นนิสัย หัวใจของคุณจะได้ห่างไกลโรค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น